ล้อแม็กในประเทศไทย

ชมคลิปการผลิตล้อแม็กรูปแบบต่างๆในประเทศไทย

ประเทศไทยมีโรงงานผลิตล้อแม็กตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ – การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการทำล้อแม็กซ์ ก็มีวิธีการผลิตได้หลายอย่าง แต่ละแบบก็จะได้ล้อแม็ก ที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นความสวยงาม น้ำหนัก ความทนทาน ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบัน ก็มีวิธีหลักๆ อยู่ดังนี้

 

ทีม Discovery ชมการผลิตล้อแม็ก Lenso

1. การทำล้อแม็กแบบ Forging หรือ การอัดด้วยแรงดันสูง

การผลิตแบบ Forging หรือสุดยอดล้อ “ฟอร์จ” ในดวงใจ ที่ใครๆ ก็ถวิลหา มันจะขั้นเทพเพียงไร รู้จักมันดีหรือยังครับ ??? สำหรับล้อฟอร์จ มันก็คือล้อที่ผลิตด้วย “กรรมวิธีการอัดด้วยแรงดันสูง” โดยมีวัสดุดิบ (Raw Material) เป็นแท่งอลูมินั่มอัลลอยที่ผสมมาเรียบร้อย ก่อนจะเข้าเครื่องอัด เพื่อให้ “โมเลกุลของเนื้อล้อแน่น ทนแรงเค้นได้มากที่สุด” (Premium Strength) แล้วก็แต่งให้เป็นลวดลาย ค่อยๆ รีดให้เป็นรูปร่างล้อ

การฟอร์จจิ้งจะใช้วัสดุเป็นจำนวนไม่มาก แต่ใช้วิธีการอัดเพื่อให้แข็งแรง เพราะไม่จำเป็นต้องใช้เนื้อวัสดุเป็นจำนวนมากเพื่อทำให้ล้อแข็งแรงแต่หนักเพิ่มขึ้นครับ แถมไม่มีฟองอากาศด้วย ส่วนใหญ่แล้วล้อฟอร์จ ก็จะมีราคาที่สูง แต่คุณภาพเยี่ยมยอด ความสวยงามเป็นเลิศ เนื่องจากเนื้อวัสดุเป็นโมเลกุลที่แน่น พูดง่ายๆ คือ “เนื้อเนียนละเอียด” จะปัดเงาก็แว้บ จะทำสีก็ว้าบ ดูล่อตาล่อตังค์ ทำให้ล้อฟอร์จเป็นที่ยอมรับในวงการรถยนต์ที่เป็น High Performance จริงๆ ข้อดีอีกประการคือ เมื่อเนื้อล้อมีความแข็งแรงและ “เหนียว” เวลาเกิดการกระแทกจากอุบัติเหตุ ล้อจะแตกได้ยากกว่า อาจจะแค่ “ดุ้ง” ไม่แตกในทันที มันจะช่วยลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ เช่น ลมยางไม่รั่วออกหมดในทันที หรือ ล้อไม่แตกเป็นชิ้นจนทำให้รถพลิกคว่ำ ถ้าล้อที่ไม่ทน จะเกิดการแตกที่ก้าน ทำให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงได้

2. การทำล้อแม็กซ์แบบ Casting หรือ หล่อขึ้นรูป

เป็นวิธีการแบบ Basic ในการผลิตล้ออัลลอย ด้วยการ “หล่อขึ้นรูป” ด้วยการหลอมเนื้อวัสดุให้เหลว ก่อนจะเทเข้าแม่พิมพ์ (Mold) เสร็จแล้วนำมาเข้าขั้นตอนการตกแต่ง (Furnishing) ให้ล้อเกิดความสวยงามมากขึ้น เพราะตอนหล่อออกมามันจะมีเศษต่างๆ ไม่เรียบร้อยเท่าไร ก็ต้องจัดการให้เรี่ยมเร้เรไร พอเสร็จแล้วก็ทดสอบ (Testing) หลายอย่าง เช่น ทดสอบความแข็งแรง X-Ray ดูโครงสร้างของล้อ มีแตกร้าวหรือไม่ รวมถึงการเทสต์รั่ว อาจจะเกิดข้อบกพร่อง (Defect) จากการผลิตก็ได้ ตบท้ายด้วยการทำสี (Paintings) ให้ออกมาเรียบร้อยสวยงามพร้อมจำหน่าย สำหรับการ Casting ในสมัยใหม่ ก็จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ให้ล้อมีน้ำหนักเบาและแข็งแรงมากขึ้น สำหรับการ Casting ที่ตอนนี้นิยม ได้แก่

2.2 การทำล้อแม็กแบบ Low Pressure Die Casting

การทำล้อแม็กด้วย Low Pressure Die Casting เป็นวิธีการหล่อด้วยแรงดันต่ำ เป็นการฉีดเนื้ออลูมินั่มอัลลอยเข้ามาจาก “ด้านล่าง” ของแม่พิมพ์ ไม่ได้เทจากด้านบนเหมือนสมัยก่อน การฉีดเข้ามาจากทางด้านล่าง แล้วค่อยๆ ให้ไหลขึ้นไปด้านบน (หลักการเหมือนน้ำพุ) ไหลเข้าในแม่พิมพ์ล้อ ซึ่งการทำแบบนี้ ข้อดีคือ “ลดการเกิดฟองอากาศในเนื้อวัสดุ” เพราะในการเทจากด้านบน โอกาสเกิดฟองจะมีมาก ก็เลยแก้ปัญหาโดยการฉีดขึ้นจากด้านล่าง เพื่อให้ “ฟองอากาศลอยขึ้นสู่ด้านบน” (ตามหลักการของฟองอากาศ ที่จะไหลขึ้นสู่จุดสูงสุดเสมอ) และสามารถจัดการฟองให้หมดไปได้โดยง่าย ทำให้โมเลกุลของเนื้อโลหะแน่น แข็งแรง โดยไม่ต้องเพิ่มเนื้อวัสดุให้เปลืองและหนักเล่น ล้อที่ผลิตแบบนี้ จึงได้ทั้งความเบาและแข็งแรงด้วยครับ

2.3 การทำล้อแม็กแบบ Flow Forming Casting

กรรมวิธีนี้กำลังมาแรง จะได้ยินเทคโนโลยีนี้กันอย่างหนาหู เป็นขั้นตอนต่อจากการ Casting ที่จะหล่อขอบล้อมาเพียง “ครึ่งเดียว” แล้วค่อยมาเข้า “เครื่องรีดขอบ” ให้โลหะค่อยๆ ยืดออกมา วิธีนี้จะทำให้ล้อมีน้ำหนักเบา เพราะไม่ได้หล่อมาเต็มวงครับ สำหรับวิธีนี้ ก็จะใช้สำหรับ “ล้อชิ้นเดียว” ที่ตอนนี้กำลังนิยมอย่างมาก ซึ่งน้ำหนักเบาและแข็งแรงด้วย เพราะเนื้อที่ถูกรีดจะบางลงแต่แน่นแข็ง ไม่ได้หนาแต่หนักเหมือนล้อชิ้นเดียวสมัยก่อน

คลิปวิธีการทำล้อแม็ก ล้อแม็กแบบ Flow Forming wheels Process